30 พฤษภาคม 2552

ความเป็นมาของเกาะภูเก็ต



ภูเก็ต

......ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม......
ภูเก็ต เป็นชื่อที่ใช้เรียกในปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านี้เราใช้ชื่อว่า " ภูเก็จ " แปลว่าเมืองแก้ว ซึ่งตรงกับความหมายเดิมที่ชาวทมิฬเรียกเมืองนี้ว่า " มณีคราม " ตามหลักฐานที่ปรากฎเมื่อ พ.ศ. 1568 ภูเก็ต เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มานานนับพันปี เป็นที่รู้จักของนักเดินเรือ ที่ใช้เส้นทางระหว่างจีนกับอินเดียผ่านแหลมมลายู มีหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดแสดงในแผนที่เดินเรือชาวปโตเลมี ซึ่งได้กล่าวถึงการเดินทางจากแหลมสุวรรณภูมิ ลงมาแหลมมลายู ต้องผ่านแหลมจังซีลอน ซึ่งก็คือเกาะภูเก็ตนั้นเอง

ภูเก็ต ตามประวัติศาสตร์ไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตามพรลิค์ ต่อมาจนถึงสมัยอาณาจักรศีวิชัย และสมัยอาณาจักรศิริรรมนคร เรียกเกาะภูเก็ตว่า " เมืองตะกั่วถลาง " เป็นเมืองที่ 11 ใน 12 เมืองนักษัตร โดยใช้ตราประจำเมืองเป็นรูปสุนัข จนถึงสมัยสุโขทัยเมืองถลางขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวฮอลันดาเข้ามาค้าขายแร่ดีบุกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเกาะภูเก็ตทางตอนเหนือและตอบกลางเป็นเมืองถลางที่มีคนไทยปกครอง ส่วนทางตะวันตกและตอนใต้ของเกาะเป็นเมืองภูเก็ตซึ่งมีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัย

จนสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พม่าได้ยกทัพมาตีหัวเมืองต่าง ๆ ทางใต้ เรื่อยมาถึงเมืองถลาง ขณะนั้นเจ้าเมืองถลางเพิ่งถึงแก่กรรมลง คุณหญิงจันภริยา และคุณมุกน้องสาว ได้รวบรวมกำลังพลต่อสู้กับกองทัพพม่าจนแตกพ่ายกลับไป เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคุณหญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรีและคุณหญิงมุกเป็นท้าวศรีสุนทร
ในราวศตวรรษที่ 16 ได้มีชาวตะวันตก จีน และอินเดีย อพยพเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายู และช่องแคบมะละกา ซึ่งทำให้ภูเก็ตได้รับอิทธิพลดังกล่าวไปด้วย โดยเฉพาะในเรื่องภาษา การแต่งกาย ประเพณีต่าง ๆ รวมถึงการก่อสร้างอาคารที่พักต่าง ๆ

ในราวศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งเป็นช่วงปฎิวัติอุตสหกรรมของชาวตะวันตก การค้าแร่ดีบุกจึงได้เจริญรุ่งเรืองมาก และพื้นที่ตอนใต้ของเกาะ โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า " ทุ่งคา " เป็นบริเวณที่มีแร่ดีบุกอุดมสมบูรณ์ ต่อมาหลวงพิทักษ์ทวีป ซึ่งเป็นเจ้าเมืองในสมัยนั้น ได้ย้ายเมืองจากบ้านเก็ตโฮ่ มาตั้งเมืองใหม่บริเวณทุ่งคา และได้มีการตั้งมณฑลฝ่ายตะวันตก ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมณฑลภูเก็ต โดยพระยารัษภานุประดิษฐ์มหิศรภักดี หรือคอซิมบี้ ณ. ระนอง นอกจากนั้นท่านยังได้เป็นผู้วางรากฐานเมืองภูเก็ตที่นำความเจริญรุ่งเรือง ด้านการวางผังเมือง รวมทั้งรูปแบบอาคารตึกแถว ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ ณ. ปัจจุบันนี้

ที่ตั้งและอาณาเขต เกาะภูเก็ต
ภูเก็ต เป็นจังหวัดทางภาคใต้ด้านตะวันตกติดชายฝั่งทะเลอันดามันมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่ ระหว่างเส้นรุ้งที่ 7 องศา 45 ลิบดา ถึง 8 องศา 15 ลิบดาเหนือ และเส้นแวงที่ 98 องศา 15 ลิบดา ถึง 98 องศา 40 ลิบดาตะวันออก ซึ่งมีสภาพเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีบริเวณเกาะอีก 32 เกาะ รวมเนื้อที่ประมาณ 570 ตารางกิโลเมตร ในส่วนที่กว้างที่สุดของกาะเท่ากับ 21.3 กิโลเมตร ส่วนที่ยาวที่สุดของเกาะเท่ากับ 48.7 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดกับคือ

ทางทิศเหนือ จดช่องปากพระจังหวัดพังงา
ทางทิศใต้ จดทะเลอันดามัน
ทางทิศตะวันออก จดทะเลเขตจังหวัดพังงา
ทิศตะวันตก จดทะเลอันดามัน

ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่โดยรวมประมาณร้อยละ 70 เป็นภูเขาสลับซับซ้อนทอดจากแนวทิศเหนือถึงทิศใต้ โดยส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันตกของเกาะ มียอดเขาที่สูงที่สุด ประมาณ 529 เมตร คือยอดเขา " ไม้เท้าสิบสอง " อยู่ในเขตตำบลป่าตอง และอีกประมาณร้อยละ 30 เป็นที่ราบอยู่ทางตอนกลาง และตะวันออกของเกาะ นอกจากนั้นยังมีคลองเล็ก ๆ อาทิ คลองบางใหญ่ คลองบางโรง คลองท่าจีน คลองท่าเรือ
ลักษณะภูมิอากาศ เป็นเกาะที่อยู่ในเขตศูนย์สูตร ซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลลมมรสุม อากาศจึงอบอุ่นและชุ่มชื้นตลอดทั้งปี มีเพียง 2 ฤดูเท่านั้น คือ ฤดูฝน และฤดูร้อน

ฤดูฝน จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยเริ่มตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม ถึง พฤศจิกายน
ฤดูร้อน จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึง เมษายน