16 ตุลาคม 2553

หัวใจของการเป็นครูหรือ คุณสมบัติของครูประกอบด้วย

หัวใจของการเป็นครูหรือ คุณสมบัติของครูประกอบด้วย

๑. ปิโย-การประพฤติตนให้เป็นที่รัก ต้องทำตัวน่ารัก ไม่หยิ่งไม่ถือตัว ไม่เกรี้ยวกราด ดุร้าย

๒.ครุ-มีจิตใจหนักแน่น ทำตนให้น่ายำเกรง ไม่ใช่ทำตัวไม่น่าเคารพ ไม่น่ายำเกรง ลูกศิษย์ก็จะไม่เชื่อในสิ่งที่เราสอน

๓.ภาวินีโย-การอบรมตนเองอย่างสม่ำเสมอ

๔.วตฺตา อ่านว่า วัต-ตา แปลว่า การฉลาดสอน ฉลาดพูด ต้องมีวิธีการที่สร้างสรรค์ในการสอน จะเป็นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือ เรียนแบบโครงงาน หรือ สอนงาน ก็ไม่เกี่ยงครับ

๕.วจฺนกฺขโม (วัจนักขโม) คือการอดทนต่อถ้อยคำล่วงเกิน เราต้องอดทนต่อความขาดสติของเด็ก เพราะเขายังคะนอง เขายังต้องการการพัฒนาจึงมาเรียนกับเรา จงใช้สติกำกับ

๖.คัมภีรํ กถงฺ กตฺตา (คัมภีริง กะถัง กัตตา) คือ พูดเรื่องลึกล้ำให้เข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง

๗.โน จัฎาเน นิโยชเย ไม่ชักนำไปในทางเสื่อมเสีย

ดังนั้นเมื่อเราประพฤติตนได้ตามคุณสมบัติข้างต้นได้เราก็จะเป็นครูได้ การเป็นครูที่เป็นครูจริงๆเป็นยากนะครับ

ขอเป็นกำลังใจให้กับครูที่ดีทุกท่านครับ

ปาเจรา จริยาโหนติ คุณุตตรานุสาสกา

ปัญญาวุทฒิกเร เตเต ทินโนวาเท นมามิหัง

07 ตุลาคม 2553

อ่านๆๆตำนานนครปฐม

นครปฐม เมืองที่ในอดีตนับพันปี มีหลักฐานปรากฏว่าเป็นแหล่งที่มีการเผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรก ดินแดนแห่งนี้มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับ "พระยากง พระยาพาลและยายหอม" ที่เป็นโศกนาฏกรรมนำมาซึ่งความตายและเคราะห์กรรมอันใหญ่หลวง
ตำนานพระยากง พระยาพาล มีหลายตำนานที่เล่าขานกันมา โดยกล่าวถึงการสร้างองค์พระปฐมเจดีย์แต่แรกเริ่มคือ เจ้าผู้ครองเมืองศรีวิชัย หรือเมืองนครชัยศรีชื่อ ท้าวภาลีธิราช มีบุตรชายชื่อว่า "พระยากง" มเหสีของพระยากงมีพระโอรสองค์หนึ่ง แต่โหรทำนายว่ากุมารองค์นี้มีบุญญาธิการมากก็จริง แต่นานไปจะทำปิตุฆาตพระบิดา เมื่อพระยากงทราบความก็เกิดความกลัว จึงมีรับสั่งให้นำกุมารไปฆ่าทิ้ง แต่พระมเหสีทำไม่ลงจึงนำกุมารไปฝาก "ยายหอม" หญิงชราที่มีอาชีพเลี้ยงเป็ด ซึ่งก็ได้เลี้ยงกุมารจนโตเป็นหนุ่ม
วันหนึ่งพระกุมารได้มาลายายหอมเพื่อเดินทางไปเมืองสุโขทัย ขณะเดินทาง ได้พบช้างพระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยกำลังตกมัน อาละวาดไล่ทำร้ายคน ไม่มีใครสามารถกำราบช้างนั้นได้ แต่พระกุมารสามารถจับช้างได้อย่างกล้าหาญ ซึ่งเมื่อพระเจ้ากรุงสุโขทัยทรงทราบ ก็ได้เมตตาชุบเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม และต่อมาได้ส่งไปปกครองบ้านเมือง พระกุมารได้ไปตั้งบ้านเจ็ดเสมียน และได้คิดการใหญ่ โดยซ่องสุมกำลังคนประมาณ 40,000 คน มาที่บ้านยายหอมจากนั้นได้ส่งหนังสือไปถึงพระยากง ท้าให้ออกมากระทำยุทธหัตถีกัน และพระกุมารได้สังหารพระยากงในที่สุด
แต่ในบางตำนานได้กล่าวว่า พระกุมารไปเป็นบุตรบุญธรรมของพระยาราชบุรี ซึ่งทุกปีจะต้องนำดอกไม้เงินดอกไม้ทองมาถวายแด่พระยากง ซึ่งครองเมืองกาญจนบุรี แต่พระกุมารเห็นว่า เมืองราชบุรีควรเป็นอิสระจึงหยุดส่งเครื่องบรรณาการ พระยากงเห็นว่า พระยาราชบุรีเป็นกบฏจึงยกทัพลงมาตีเมืองราชบุรี พระยาราชบุรีจึงแต่งตั้งให้พระกุมารเป็นแม่ทัพออกรบกระทำยุทธหัตถีกัน พระยากงถูกพระกุมารฟันด้วยของ้าวจนเสียชีวิต
จากนั้นพระกุมารก็ได้ยกพลบุกเข้าเมืองกาญจนบุรี และคิดจับมเหสีของพระยากงมาเป็นของตน โดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วนางคือ พระมารดา ขณะที่กำลังจะบุกขึ้นไปยังปราสาทของพระมารดา เทพยดาก็ได้เนรมิตเป็นแพะแม่ลูกอ่อนมานอนขวางทางขึ้นบันได เมื่อพระกุมารกำลังเดินขึ้นบันได กำลังจะข้ามแพะมีลูก 2 ตัวนั้น แพะก็ได้พูดกับลูกของมันเป็นความนัยว่า "เราเป็นสัตว์เดรัจฉาน ท่านจึงข้ามเราไป นับประสาอะไรกับเรา แม้มารดาของท่านท่านยังจะเอาเป็นเมีย"
เมื่อพระกุมารได้ฟังก็รู้สึกเอะใจทันที พอได้พบพระมารดาจึงอธิษฐานว่า "หากหญิงคนนี้เป็นมารดาของตนขอให้น้ำนมไหลออกจากถันทั้งคู่" เมื่อสิ้นคำอธิษฐานปรากฏว่ามีน้ำนมไหลออกมาจริง พระกุมารจึงถามความจริงของพระมารดา พอรู้ว่าผู้ที่ตนสังหารเป็นพระบิดาก็เสียใจมาก และได้โยนความผิดทั้งหมดให้ยายหอม พร้อมทั้งจับยายหอมฆ่า โดยนำศพไปให้แร้งกาจิกกิน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนพากันเรียกพระกุมารว่า "พระยาพาล" เพราะเมื่อฆ่าบิดาแล้วยังพาลหาเรื่องฆ่ายายหอมอีกซึ่งเป็นบาปมหันต์ ต่อมาได้มีการประชุมเพื่อลงมติว่าจะต้องทำกุศลสิ่งใด เพื่อให้บาปนั้นเบาบางลง แล้วก็มีมติออกมาว่าจะต้องสร้างพระเจดีย์ใหญ่สูงชั่วนกเขาเหิน กรรมจึงเบาบางลง จากตำนานนี้ทำให้ได้ทราบที่มาของการสร้างองค์พระปฐมเจดีย์ และในส่วนของตำนานการสร้างศาสนวัตถุในพระพุทธศาสนา ก็ยังมีหลักฐานปรากฏอยู่ที่วัดดอนยายหอม จ.นครปฐมโดยอดีตเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม นามว่า "หลวงพ่อเงิน" ท่านเคยขุดพบอิฐที่หักพังอย่างมากมายในชั้นดิน และพบศิลาเหลี่ยมสีเขียว 2 ต้น มีลายจำหลักที่ปลายเสากับกวางหมอบทำด้วยศิลา 1 ตัว คล้ายกับเสาประตูสาญจีเจดีย์ของพระเจ้าอโศกมหาราช "วัดดอนยายหอม" นี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีหลักฐานว่าเดิมเคยเป็นวัดเก่า ตั้งแต่สมัยทวารวดีมีอายุกว่าพันปี วัดดอนยายหอมมีความเกี่ยวพันกับ "ยายหอม" อย่างไร ไม่มีหลักฐานแน่ชัด เพียงแต่ที่วัดนี้มีศาลยายหอม และมีเสียงร่ำลือกันมานานว่า เคยมีชาวบ้าน และคนในวัดได้สัมผัสกับวิญญาณยายหอมมาแล้ว โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่วัดดอนยายหอม เคยเห็นหญิงชราแปลกหน้าเดินขึ้นไปบนศาลยายหอมอยู่บ่อยๆ พอตามไปดูก็ไม่พบใคร ทำให้เขาแน่ใจว่า ที่เห็นนั้นต้องเป็นวิญญาณของยายหอมอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องราวประหลาดที่ทำให้ชาวนครปฐมเชื่อว่า วิญญาณยายหอมยังไม่ไปไหน
และที่นครปฐมก็ยังมีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับวิญญาณยายหลานคู่หนึ่ง ที่ประสบเคราะห์กรรมก่อนตายอย่างน่าสงสาร เรื่องนี้เกิดขึ้นภายในพระราชวังสนามจันทร์ พระราชวังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2450 ส่วนเรื่องการปรากฏของวิญญาณนั้นเกิดขึ้นในราว 40 กว่าปีก่อน บน "สะพานจักรียาตรา" ซึ่งเป็นสะพานเก่าแก่สร้างในปี พ.ศ. 2501 ที่นี่มีเรื่องเล่าถึงวิญญาณยายกับหลานซึ่งน่าสงสาร 2 ดวง ในสมัยยังมีชีวิตอยู่นั้นยากจนมาก อยู่อย่างลำบาก อดมื้อกินมื้อใช้ชีวิตเพียงลำพัง 2 คน ภายหลังเมื่อทนภาวะรันทดไม่ไหว ยายจึงตัดสินใจฆ่าหลานโดยจับบีบคอจนตาย จากนั้นยายก็ฆ่าตัวตายตาม โดยแขวนคอตายบนราวสะพานจักรียาตรา ซึ่งเป็นภาพที่น่าอดสู ชวนสยดสยอง
หลังจากนั้นไม่นานในเวลากลางคืนก็มักจะมีคนพบเห็นเรื่องราวประหลาด เช่นบางคนจะได้ยินเสียงเด็กร้องไห้คร่ำครวญโหยหวน ชาวบ้านบางคนเคยเห็นเงาลางๆ เป็นร่างของหญิงชรากำลังนั่งอุ้มเด็กอยู่กลางสะพาน แม้ชาวบ้านจะร่วมใจกันนิมนต์พระมาทำพิธีสวดส่งวิญญาณแล้ว ก็ยังมีคนเห็นกันอยู่เรื่อยๆ นับเป็นวิญญาณที่เฮี้ยนเอาการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความตายจากการฆ่าตัวตาย ก่อนอายุขัย เท่ากับเป็นบาปมหันต์ แม้ตายไปแล้วก็ไปไหนไม่ได้วิญญาณต้องติดอยู่ ณ สถานที่นั้นตราบนานเท่านาน
ใช่ว่า "ความตาย" จะทำให้หลุดพ้นได้ เพราะเคราะห์กรรมอันเป็นทุกข์ของคนเรานั้น เกิดจากกรรมในอดีตทั้งสิ้น เมื่อมีโอกาสได้มาเกิดก็จงอดทนชดใช้กรรมเก่านั้นให้เบาบาง และทำความดีทดแทน จนเมื่อถึงอายุขัยที่จะจากโลกนี้ไปจริงๆ เราจะได้ "เสวยบุญ" ที่เราเพียรสะสมมาในโลกหน้าซึ่งเป็น "บ้านเก่า" ของเราโดยแท้จริง