25 มิถุนายน 2552

การปฎิวัติสยาม 2475


หมุด ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีข้อความว่า "...ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ"



24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

เกิด "การปฏิวัติ 2475" โดย คณะราษฎร กลุ่มบุคคลที่ประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือและพลเรือนจำนวน 115 คน นำโดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ได้ทำการ "อภิวัฒน์" เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น มีสาเหตุหลายประการ อาทิ ปัญหา เศรษฐกิจตกต่ำ ที่รัฐบาลภายใต้ระบอบเก่า ไม่สามารถแก้ไขได้ อิทธิพลความคิดทางการเมือง แบบประชาธิปไตย ในประเทศตะวันตก ในหมู่นักศึกษาไทยในต่างประเทศ กระแสการโค่นล้ม ระบอบกษัตริย์ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน เยอรมนี ฯลฯ ความรู้สึกชาตินิยม ที่ประเทศไทย ถูกเอารัดเอาเปรียบ จากสนธิสัญญา ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งรัฐบาลสยาม ทำไว้กับ ประเทศมหาอำนาจ ตะวันตก ความขัดแย้ง ระหว่าง กลุ่มนายทหาร ที่ได้รับการศึกษา จากต่างประเทศ กับนายทหาร ที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ และความเสื่อมโทรม ของระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์เอง เหล่านี้ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ 2475 การปฏิวัติครั้งนี้สำเร็จลงโดยปราศจากการนองเลือด ทำให้ประเทศไทยได้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักประกันแห่งสิทธิของราษฎร เป็นสิ่งยืนยันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรและที่สำคัญคือ บุคคลทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมาย