01 กรกฎาคม 2552

พิษร้าย"อินเตอร์เน็ต" ล่อ"เด็ก"ด้วยเซ็กซ์ออนไลน์!

ดาบสองคม"สังคมสารสนเทศ"

กรณี "ภาพลับตั๊ก บงกช จากภาพยนตร์เรื่อง *** ฟัก" แพร่กระจายไปในโลกอินเตอร์เน็ต หรือ โลกไซเบอร์ชนิดข้ามโลกในชั่วเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง ได้ปลุกให้สังคมไทยเริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตอย่างจริงจัง

กล่าวได้ว่า สังคมไทยยุคปัจจุบันได้ถีบตัวออกจากสังคมอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคสังคมสารสนเทศมากขึ้นเรื่อยๆ แทบเป็นไปไม่ได้ที่สังคมไทยจะหลบหนีจากพลังอำนาจของวิทยาการอินเตอร์เน็ตที่แผ่อิทธิพลไปทั่วโลก นับตั้งแต่เครือข่ายไซเบอร์ดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นในปี 2512 ในฐานะเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการวิจัยทางทหารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (อาร์พาเน็ต)

"ตั๊ก บงกช" อาจเป็น "ซูเปอร์สตาร์" ของไทยคนแรกที่ตกเป็นเหยื่อของ "อาชญากรอินเตอร์เน็ต" แต่ถ้าพูดถึงซูเปอร์สตาร์ระดับโลกในวงการฮอลลีวู้ดแล้วล่ะก็ ทุกคนล้วนตกเป็นเหยื่อของการถูกเผยแพร่ประจานภาพลามกทั้งนั้น เช่น "รีส วิทเธอร์สปูน" "แองเจลินา โจลี่" "โมนิกา เบลุกชี่" "เคียรา ไนต์ลีย์" "เพเนโลเป ครูซ" "เจนนิเฟอร์ โลเปซ" และ "เกว็นเนธ พัลโธรว"

เทคโนโลยีสารสนเทศ "อินเตอร์เน็ต" เป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพอันหนึ่งที่จะช่วยยกระดับ "ความเป็นอยู่" ของประชากรโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงแหล่งความรู้ขนาดมหึมา การศึกษา การทำงาน การค้า การติดต่อกับภาครัฐ ทั้งยังเป็นเวทีเปิดกว้างสำหรับการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

อย่างไรก็ตาม อาชญากรรมไซเบอร์ เช่น เว็บไซต์ลามก เว็บไซต์ฉ้อโกง เว็บไซต์เผยแพร่ลัทธินอกรีต ฯลฯ ที่ลุกลามไปทั่วโลกราวกับไวรัสมฤตยูได้ทำให้ "โลก" ต้องช่วยกันขบคิดวิธีการนำอินเตอร์เน็ตไปใช้ประโยชน์มากกว่านำไปใช้ในทางเสื่อม

2. "เด็ก"เหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์

ข้อมูลจาก "ศูนย์วิจัยอาชญกรรมคอมพิวเตอร์" สหรัฐอเมริกา ระบุว่า เด็กอายุระหว่าง 10-17 ปี คือ เป้าหมายหลักของผู้ผลิตเว็บไซต์ลามกอนาจาร โดยเด็กเหล่านี้จะได้รับข้อความ "อินสแตนเมสเสจ" และ "ไฮเปอร์ลิงก์" แนะนำที่อยู่เว็บลามก ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปข้องแวะกับเว็บลามกมาก่อน

ห้องสนทนาทางอินเตอร์เน็ต (แชมรูท) เป็นพื้นที่ทำเลทองที่ผู้ผลิตเว็บลามก รวมทั้งพวกโรคจิตนิยมเข้าไป "ล่า" เด็กๆ ซึ่งวิธีการติดต่อกับเด็กก็ไม่ยากเย็นอะไร แค่ดูว่า "โปรไฟล์" หรือข้อมูลของคนที่อยู่ในแชทรูมว่ามีอายุเท่าไหร่ จากนั้นนักล่ากลุ่มนี้จะส่งข้อความแนะนำเว็บลามกเข้าไปให้เด็กในแชทรูมทันที

นอกจากนี้ นักล่าบางกลุ่มยังลงทุนจัดทำแชทรูมขึ้นมาเองเพื่อล่อเด็กๆ ให้เข้าไปใช้บริการโดยตรง ที่ประเทศญี่ปุ่น, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงว่า เว็บไซต์ล่อแหลมเกี่ยวกับเรื่องเพศ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาชญากรรมทางเพศในญี่ปุ่นพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

เมื่อปี 2546 มีเด็กสาวเกือบ 2,000 คนตกเป็นเหยื่อในคดีลักพาตัว ข่มขืน ปล้นจี้ ภายหลังจากถูกล่อลวงผ่านเว็บไซต์เกี่ยวกับเรื่องเพศ เรื่องหาเพื่อนคุยแก้เหงา และที่น่าอกสั่นขวัญแขวนไปยิ่งกว่านั้นคือมีเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมตกเป็นเหยื่อรวมอยู่ด้วยถึง 4 คน

นอกจากนั้นยังพบด้วยว่า ปัจจุบันเด็กสาวญี่ปุ่นจำนวนมากมีแนวโน้มจะใช้อินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งประกาศ "ขายตัว" มากขึ้นเรื่อยๆ วิธีแก้ปัญหาเท่าที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะทำได้ก็คือ ออกกฎหมายปรับและจำคุก "ผู้ใหญ่" ที่เขียนข้อความเพื่อซื้อบริการทางเพศในเน็ต ขณะที่ตัว "ผู้เยาว์" จะถูกจับตาจากทางการอย่างใกล้ชิดทุกฝีเก้า

สำหรับสถานการณ์ใน "ยุโรป" ก็เริ่มวิกฤติไม่แพ้กัน ส่งผลให้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) ต้องจัดคณะทำงานและตั้งงบประมาณ 2,000 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาพิษภัยจากโลกอินเตอร์เน็ตที่กำลังรุมเร้าเยาวชน ซึ่งผลสำรวจพบว่าเด็กส่วนมากมักออกไปพบกับบุคคลที่เคยสนทนาด้วยทางอินเตอร์เน็ตโดยไม่ระมัดระวังตัว

ในส่วนของเงินวงบประมาณ 2,000 ล้านนั้นส่วนใหญ่จะนำไปใช้พัฒนาประสิทธิภาพการกรองข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตและโฆษณาให้ "ผู้ปกครอง" หันมาสนใจป้องกันบุตรหลานจากภาพอนาจารและข้อความที่ไม่เหมาะสม